Responsive image Responsive image

ทุ่งนาแดนนี้...ไม่มีนาแล้ว

27 สิงหาคม 2562



ทุ่งนาแดนนี้...ไม่มีนาแล้ว

“ทุ่งนาแดนนี้ ไม่มีความหมาย เหลือเพียงกลิ่นโคนสาบควาย เห็นซากคันไถแล้วเศร้า...”

จากเพลงรอยไถแปร ของ แก้ว ก้านสุพรรณ เพลงที่เล่าถึงนาที่ร้าง เพราะถูกสาวทิ้งไป ทำให้หมดกำลังใจที่จะทำนาอีกต่อไป ทำให้เราอดคิดถึงแล้วทุ่งนาแดนอื่นๆ บ้างไม่ได้ ว่าเมื่อถึงคราวออกรวงเก็บเกี่ยวไปหมดแล้ว นอกจากจะเหลือเพียงกลิ่นโคลนและซังข้าวแล้ว ทุ่งนานั้น ๆ จะกลายเป็นดินแดนอะไรต่อไปกันบ้าง

เพราะการปลูกพืชหลังนา เป็นทั้งการเพิ่มรายได้ให้ชาวนาและเป็นการบำรุงดินให้พร้อมสำหรับข้าวแปลงต่อไป การเลือกพืชมาต่อคิวข้าวจึงมีปัจจัยหลายอย่าง นั่นคือมีธาตุอาหารที่ดีต่อดิน ทนแล้ง ต้องการน้ำไม่มากนัก แถมยังต้องเป็นที่ต้องการของตลาด ยิ่งถ้าเป็นนาอินทรีย์ ก็ต้องตามรอยอินทรีย์ให้ครบวงจรเช่นกัน

มาดูกันดีกว่าว่าพืชหลังนายอดฮิตในบ้านเรา มีอะไรกันบ้าง



พืชตระกูลถั่ว

ไม่ว่าจะถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ก็จัดเป็นพืชหลังนายอดฮิตที่เราคงคุ้นเคยจากบทเรียนสมัยประถม เพราะพืชตระกูลถั่วมีธาตุไนโตรเจนสูง เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วไถกลบไปทั้งต้น ก็ช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุยดีแบบไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีตัว N ให้ดินโทรมเมื่อสะสมไปนานๆ แถมปุ๋ยสดจากต้นถั่วยังช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวในปีต่อไปได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และสำหรับนาอินทรีย์ เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลููกถั่วเหลืองอินทรีย์กันมากขึ้น เพราะประเทศเราขาดแคลนถั่วเหลืองปลอดภัย ถั่วเหลืองส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศและไม่อาจมั่นใจได้ว่าเป็นถั่วเหลือง GMO หรือไม่ ตลาดจึงมีความต้องการถั่วเหลืองอินทรีย์มากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งรายได้ของชาวนาอินทรีย์ยุคนี้ 



ปอเทือง

เห็นทุ่งปอเทืองดอกสีเหลืองสวยอร่ามเต็มทุ่งทีไร ก็อยากจะกระโดดเข้าไปโพสท่าถ่ายรูปทุกที แต่อันที่จริง ชาวนาไม่ได้เลือกปลูกต้นปอเทืองนี้เพราะความสวยงาม แต่ปลูกเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดเช่นเดียวกับการปลูกถั่ว เพราะปอเทืองที่มีความทนทานสูง ทนแล้งได้ดี เหมาะกับดินปนทรายในแถบภาคอีสาน และที่ดีที่สุดคือการเป็นยอดปุ๋ยที่ช่วยทำให้ดินดี ต้นข้าวงาม และยังช่วยให้ปักดำข้าวได้ง่ายขึ้น ว่ากันว่าปลูกปอเทืองหนึ่งไร่ แทนการใช้ปุ๋ยยูเรียได้ถึง 15-20 กิโลกรัม ชาวนาทั่วไปก็ลดการใช้ปุ๋ยใช้ยาไปได้ ส่วนนาอินทรีย์ที่โบกมือลาเคมีเด็ดขาด ปอเทืองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญ แถมยังสามารถเก็บเมล็ดไว้หมุนเวียนปลูกปีต่อไป หรือจะแบ่งขายก็ได้เหมือนกัน



หอม กระเทียม  

บำรุงดินด้วยถั่วหรือปอเทืองเรียบร้อย แต่ยังไม่ถึงเวลาหว่านข้าวใหม่ เกษตรกรก็เริ่มหันมาปลูกพืชอายุสั้นเพื่อเพิ่มรายได้จากผืนดินของตัวเอง ซึ่งทางเลือกยอดฮิตของชาวนาภาคอีสาน โดยเฉพาะชาวนาอินทรีย์ คือการเลือกปลูกหอมและกระเทียมอินทรีย์ที่ขายได้ราคาดีกว่า มีตลาดยุโรปรองรับเพราะมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย แถมการรวมกลุ่มยังเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในการป้องกันศัตรูพืชอย่างผีเสื้อหนอนกระทู้หอม ด้วยการใช้ไฟล่อแมลงแทนการพ่นยา หรือการทดลองปลูกแบบยกร่องสูงที่ทำให้จัดการหญ้าได้ง่ายขึ้น ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นชัด ๆ ว่ายังมีวิธีและทางเลือกอีกมากที่เราไม่ต้องพึ่งพาเคมี



มันเทศญี่ปุ่น

กลายเป็นมันยอดฮิตจากความหวานอร่อยและดีต่อสุขภาพไปพร้อมๆ กัน ราคาของมันเทศญี่ปุ่นที่ปลูกได้ดีในเมืองไทยจึงหอมหวานไม่แพ้รสชาติของมัน และด้วยความเป็นพืชอายุสั้น ทนแล้ง จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาปลูกหลังนา และไหน ๆ ก็เป็นมันที่ดีต่อสุขภาพ ก็ไม่ควรต้องมากังวลกับของแถมอย่างปุ๋ยเคมี การเลือกกินมันเทศญี่ปุ่นอินทรีย์จึงได้รับความนิยมมากขึ้น ชาวนาอินทรีย์ที่ปลูกมันเทศญี่ปุ่นจึงได้ยิ้มกว้างเพราะผลผลิตได้ราคาดีไปกับกระแสนี้ไปด้วย



แตงโม 

แตงโมเป็นผลไม้ที่เสี่ยงต่อยาฆ่าแมลงตกค้างสูงมาก เรียกว่าต้องประโคมปุ๋ยประโคมยากันหนักหน่วงจึงจะออกผล ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพจึงไม่ค่อยไว้วางใจเจ้าผลไม้ชนิดนี้เท่าไหร่นัก จนเมื่อมีการปลูกแตงโมอินทรีย์ โดยเฉพาะแตงโมอินทรีย์หลังนาที่คนกินไว้ใจได้ว่าคนปลูกจะไม่หยอดปุ๋ยหยอดยาใส่แปลงแน่นอน เพราะพวกเขามีวิธีดูแลแตงโมให้ได้รสอร่อยปลอดภัยด้วยการต่อสู้กับศัตรูพืชด้วยวิธีแบบธรรมชาติ ทั้งน้ำหมักชีวภาพ ทั้งอาหารบำรุงดิน งานนี้คนปลูกปลอดภัย คนกินปลอดภัย สิ่งแวดล้อมก็ปลอดภัยไปด้วย  


____________________
เรื่อง: มานู สะตี
ภาพประกอบ: Parinda



เรื่องที่น่าสนใจ

เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ คือ CEO Director ของ Broccoli Revolution ร้านมังสวิรัตที่เปิดมาแล้วเกือบ 7 ปี

ครั้งแรก! ของการเปิดเผยโฉมหน้าของชาวนาตัวจริง ใครอยากเห็นหน้าค่าตาและฟังเสียงพี่ ๆ ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์อร่อย ๆ ให้เรากิน เชิญทางนี้!

ตาล้า ตาพร่า ดูแลสายตาด้วยแอนโทไซยานิน

เห็นสีและชื่ออาจดูคล้าย ๆ กัน แต่จริง ๆ แล้ว น้ำซาวข้าว น้ำข้าว และเครื่องดื่มข้าว มีความแตกต่างกันนะ