Responsive image Responsive image

ปลูกเคมี กำไรดีกว่าวิถีธรรมชาติ จริงหรือไม่?

22 ตุลาคม 2561



ในกาลก่อน “นาข้าว” เป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่ทำให้เราสามารถมีกิน มีใช้ ได้อย่างไม่รู้หมด ทว่าในยุคหลังไม่กี่สิบปีมานี้ การทำนาแบบดั้งเดิมเพื่อกิน เพื่อใช้ เริ่มหายไป ชาวบ้านต่างทำนาเพื่อให้ได้ผลผลิตมาก ๆ ด้วยการใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ย ทั้งยาฆ่าแมลง และยาปราบศัตรูพืชต่าง ๆ รวมทั้งทำเกษตรเชิงเดี่ยว ที่เน้นแค่ให้ได้ปริมาณมากเอาไว้ก่อน โดยจะปลูกติด ๆ กันหลายครั้ง เพื่อนำออกมาขายให้ได้มากที่สุด เมื่อปลูกเยอะ การดูแลไม่ทั่วถึง สารเคมีต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาจึงกลายเป็นคำตอบ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรเองลามไปถึงผู้บริโภค เพราะสารตกค้างเมื่อนำผลผลิตไปบริโภค และในขณะเดียวกัน ดินที่เคยร่วนซุยก็สูญเสียสารอาหารในดินไป กลายเป็นดินแข็ง เพาะปลูกยากขึ้น กลายเป็นผลเสียที่ติดตามมาในระยะยาว สิ่งเหล่านี้จึงเหมือนเป็นการทำลายขุมทรัพย์ของเราเองโดยที่เราไม่เคยรู้ตัว

ล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยและเก็บตัวอย่างกบหนอง ปูนา ในพื้นที่เกษตร และปลากะมังในแม่น้ำน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในสัตว์ทุกตัวอย่าง สอดคล้องกับ ม.นเรศวร ที่ทำการวิจัยพบสารเคมีตกค้างในปลาที่เลี้ยงในกระชังที่แม่น้ำน่าน ทุกตัวอย่างจาก 19 ตัวอย่าง ซึ่งสาเหตุมาจากการใช้สารเคมีในการการเกษตร ที่นอกจากจะส่งผลเสียตั้งแต่คนแรก คือ เกษตรกรที่เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากการสะสมของสารเคมีแล้ว ในนาข้าวยังไม่เหลือ กุ้ง หอย ปู ปลา ไว้เป็นแหล่งอาหารได้อย่างแต่ก่อนอีกด้วย

แรกเริ่มเดิมที ประเทศไทยนั้นถือว่าโชคดียิ่งกว่าใคร ๆ นั่นก็เพราะเรามีสำนวนไทยที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ทว่า ปัจจุบัน สำนวนนี้ กลายเป็นของที่จับต้องไม่ได้ไปเสียแล้ว นั่นก็เพราะว่ากุ้งหอยปูปลา จะหาได้พบสักตัวในนาข้าวยังหาได้ยาก โดยสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรหันมาใช้สารเคมี สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในท้องนาจึงไม่สามารถอยู่ได้สบาย ๆ ตามธรรมชาติอีกต่อไป

ทำไมเราจึงต้องเริ่ม “พลิก” กลับมาสู่วิถีธรรมชาติ?
มีการพบตัวอย่างจากเกษตรกรหลายราย ที่เลือกใช้ทั้งสารเคมี และปุ๋ยเคมีใส่ต้นข้าว เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ผลคือขาดทุนย่อยยับ! หักลบกลบหนี้ค่าปุ๋ยค่ายาแล้วแทบไม่เหลืออะไรเลย จึงเริ่มมีผู้หันมาทำนาแบบย้อนยุคดู ลองทำนาแบบที่ปู่ย่าตายายเคยทำกันมา นั่นคือไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีใส่ต้นข้าว ใส่แต่ปุ๋ยคอกที่ทำได้เอง และหันมาทำนาด้วยตัวเองแทนการจ้าง ผลปรากฏว่าแต่ละปี กลับได้ผลกำไรแบบเกินคาด ไม่ต้องปวดหัวใจเหมือนชาวนาที่ใส่ปุ๋ยและสารเคมีอยู่ตลอด จึงทำให้หลาย ๆ คนเริ่มมองเห็นทางออก ว่าวิถีทางแบบไหน จึงเป็นเส้นทางที่ถูกต้องแท้จริง

ตารางเปรียบเทียบต้นทุน และผลผลิตการทำเกษตรวิถีธรรมชาติ กับเกษตรแบบพึ่งพาเคมี (บาท/ไร่)

ทำนาแบบเกษตรเคมี

ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือก/ ตัน อยู่ที่  10,000 บาท  ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่ อยู่ที่ 0.8 ตัน/ ไร่ เท่ากับ 8,000 บาท
 
รายการ บาท/ไร่
ค่าเมล็ดพันธ์ข้าว  500
ค่าเตรียมดิน 800
ค่าปุ๋ยเคมี (200 บาท/กก.) ใช้ 8 กก./ไร่ 1,600
สารเคมีกำจัดแมลง 300
สารเคมีกำจัดโรคต่างๆ 150
สารเคมีกำจัดวัชพืช 400
ค่าฮอร์โมน 100
ค่าเก็บเกี่ยว 650
ค่าน้ำมัน 600
อื่นๆ 500
                                รวม 5,600
 
นาแบบเกษตรวิถีธรรมชาติ
ราคาผลผลิตจากเกษตรวิถีธรรมชาติ จะได้ราคาที่ดีกว่าเกษตรเคมีถึง 2 เท่า คือข้าวปลอดสารเคมีราคาตลาดจะรับซื้อตันละ 20,000 - 22,000 บาท เลยทีเดียว
 
รายการ บาท/ไร่
ค่าเมล็ดพันธ์ข้าว 500
ค่าเตรียมดิน 800
ค่าปุ๋ยอินทรีย์ (ผลิตเองคิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 50 บาท/กก.) ใช้ 8 กก./ไร่ 400
สารเคมีกำจัดแมลง (ใช้ข้าวพันธุ์ต้านทานต่อแมลงศัตรู ทำให้ลดการใช้สารฆ่าแมลงลงได้ -
ค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช (ใช้วิธีควบคุมระดับน้ำไม่ให้วัชพืชเติบโต โดยไม่ใช้สารเคมี) -
ค่าฮอร์โมนน้ำหมักชีวภาพราคาเฉลี่ยลิตรละ 50 บาท (ใช้ 1 ลิตร/ไร่) 50
ค่าเก็บเกี่ยว (ใช้วิธีลงแขกเอาแรงเกี่ยวข้าวกัน) -
ค่าน้ำมัน และอื่นๆ 1,000
รวม 2,750

จะเห็นได้ว่าต้นทุนและผลผลิตต่อไร่ การทำนาแบบเกษตรวิถีธรรมชาติ ใช้ต้นทุนน้อยกว่าเกษตรเคมีเมื่อเทียบกันไร่ต่อไร่ราคาต่างกันถึง 2,850 บาท เมื่อเป็นเช่นนี้ เกษตรกรไทยยังจะเดินไปสู่ทางตันที่มีแต่หนี้สินกันอยู่อีกหรืออย่างไร? หรือจะลองหันมาทำเกษตรแบบไม่ใช้เคมีที่ต้องซื้อ นอกจากลดต้นทุนได้ ยังช่วยให้ผลผลิตดี ข้าวมีเมล็ดสวย และไม่หล่นร่วง ตัวเกษตรกรเองก็ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล มีสุขภาพแข็งแรง เพราะร่างกายปลอดพิษจากเคมี   

เกษตรแบบวิถีธรรมชาตินั้น ทำได้ไม่ยาก ต้องเริ่มที่มีใจ แล้วตามด้วยใส่ใจ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ตั้งจุดหมายแล้วพยายามไปให้ถึง แม้จะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ขอให้เรามั่นใจได้ ว่าผลตอบแทนนั้นคุ้มค่าแน่นอน       


ข้อมูลจาก  
https://www.organicfarmthailand.com/how-to-grow-rice-organic/ 
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1967903426781589&id=1471780556393881 



เรื่องที่น่าสนใจ

ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 ประชาคมโลก เริ่มให้ความสนใจเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหาร การทำการเกษตร

สงสัยไหมว่าทำไมข้าวที่เรากิน ถึง ‘นุ่ม’ ไม่เท่ากัน

พระสงฆ์สุขภาพดีได้ ด้วยอาหารที่ถวายตามโภชนาการ

ปัจจุบันประโยคที่ว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ไม่ได้เป็นแค่คำพูดเล่น ๆ เพื่อเรียกรอยยิ้มอีกต่อไป

Rice O’ Clock เมนูข้าว ๆ เช้ายันเย็น ของคนกินข้าวสีเข้ม