ขนข้าวเปลือกเข้าวัด
12 เมษายน 2562
ขนข้าวเปลือกเข้าวัด
ประเพณีเก่าที่หายไปจากคลองนกกระทุง 60 ปี
เราอาจจะเคยได้ยินประเพณีขนทรายเข้าวัด หรืองานก่อเจดีย์ทรายกันในช่วงวันสงกรานต์ ตามความเชื่อที่ว่าคนในชุมชนต้องร่วมกันขนทรายที่เคยเดินติดเท้าออกมาตลอดทั้งปีกลับไปคืนวัด และได้ร่วมด้วยช่วยกันสร้างบุญไปด้วยกันทั้งชุมชน แต่ถ้าบอกว่าเรามีประเพณีขนข้าวเปลือกเข้าวัดด้วยล่ะ คงจะนึกไม่ออกกันใช่ไหมว่าเป็นประเพณีแบบไหน
เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปเห็นและไปร่วมประเพณีเก่าที่เคยถูกกลืนหายไปฟื้นคืนกลับมาใหม่อีกครั้ง จากที่ตั้งใจว่าจะแค่ไปเวียนเทียน ฟังเทศน์มหาชาติ เดินเที่ยวงานวัดใต้แสงจันทร์แบบซูเปอร์ฟูลมูน เรายังโชคดีมีโอกาสได้เห็นประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกที่ว่านี้ด้วยตาของตัวเอง
ไม่รู้จักวัดบางภาษี ไม่รู้จักประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก
ที่วัดเก่าแก่ซึ่งอยู่ในตำบลคลองนกกระทุง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ในวันมาฆบูชา ที่วัดมีงานประจำปีนมัสการปิดทองหลวงพ่อบุญเรือน เลยยิ่งทำให้บรรยากาศในวัดดูคึกคักเป็นพิเศษ มีร้านค้าตลอดฝั่งซ้ายขวา มีมุมตักไข่ลุ้นรางวัล แล้วก็มีเทศน์มหาชาติในช่วงค่ำด้วย แต่ถัดจากบริเวณโรงทานไปไม่ไกล เราก็ได้พบกับกองเจดีย์ข้าวเปลือก มีป้ายติดอยู่ด้านหลังว่า “งานประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก 18-19 กุมภาพันธ์ 2562” ขณะที่ยังยืนงงอยู่กลางแดดนั้น ก็มีชาวบ้านที่ดูแลพิธีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก เดินเข้ามาชวนทำบุญเวียนข้าวเปลือก บูชาแม่โพสพ เราจึงไม่รอช้ารีบเอ่ยถามกลับไปทันทีว่า ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกในวันนี้คืออะไร? และผู้ที่มาไขความสงสัยให้กับเราก็คือ คุณป้าประเสริฐ ศรีไต่ขำ และคุณป้านกน้อย ศรีนวลมาก จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ตำบลคลองนกกระทุง หนึ่งในแม่งานสำคัญของการจัดงานก่อเจดีย์ข้าวเปลือกวัดบางภาษี
คุณป้าประเสริฐเล่าให้เราฟังว่า ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวนา ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระแม่โพสพ เทพธิดาแห่งข้าวอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนาสมัยก่อนกราบไหว้บูชา โดยจะมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้แม่โพสพตลอดฤดูกาลทำนา ตั้งแต่หว่านดำ ไปจนถึงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งพิธีทั้งหมดจะทำกันที่หัวคันนา ยกเว้นการก่อเจดีย์ข้าวเปลือกที่ชาวนาจะนำข้าวเปลือก ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปใส่กระบุงมาร่วมกันก่อเป็นกองเจดีย์เพื่อทำบุญถวายให้กับวัด ด้วยสมัยก่อนชาวนาจะปลูกข้าวเพื่อไว้ทำกิน ทำบุญ และทำทาน ทำกินก็คือการปลูกกิน เหลือกินก็นำไปขายเพื่อนำเงินมาจับจ่ายใช้ส่วน ทำบุญก็คือการถวายวัด ถ้าเมื่อถึงหน้าแล้งไม่มีข้าวรับประทาน ก็กลับมาขอที่วัดได้ ส่วนทำทาน ก็คือการแบ่งปันให้กับคนยากจนเป็นน้ำใจ
หลับตา ย้อนเวลา ไปเที่ยวงานก่อเจดีย์ข้าวเปลือกในอดีต
“แม่เล่าว่าพอถึงเดือน 3 จะมีลมหน้านวล หรือที่เรียกว่าลมว่าว เป็นช่วงที่ลมขึ้น พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เขาก็จะพักที่ดิน เดือนพฤษภาคมฝนตกค่อยเริ่มหว่านกันใหม่ ในช่วงนี้ไม่ได้ทำอะไรนี้ก็จะมาก่อเจดีย์ที่วัดกัน งานจัดตรงกับวันมาฆบูชา มีทั้งหมด 3 วัน วันแรกจะเป็นวันเข้าโรงครัว เตรียมของ ตัดต้นกล้วย ใบมะพร้าว เตรียมสถานที่ วันที่ 2 กับวันที่ 3 ก็เป็นวันงาน จำได้ลาง ๆ ว่ามีชาวบ้านมาร่วมกันเต็มเลย มากันทุกบ้านจริง ๆ ป้าก็เดินตามแม่มา แต่ก่อนไม่มีรถต้องเดินมาอย่างเดียว เดินกันเป็นกิโล ๆ ตกเย็นก็มีรำวง ลิเก โขนเต็มทั้งลานวัดเลย”
“สมัยนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากนัก มีเจดีย์ข้าวเปลือก บายศรีปากชาม ดอกไม้ก็ใช้ดอกบานไม้รู้โรย หรือดอกไม้ที่บ้านไหนมีหรือปลูกกัน บางทีก็ใช้แค่ใบตอง ผลไม้ก็ใช้กล้วยน้ำว้า อ้อย มะพร้าว แล้วมีกระดาษสี ๆ กระดาษเงิน กระดาษทองปักไม้อยู่ด้านบน สัก 4-5 โมงเย็นก็เลิกแล้ว” คุณป้าประเสริฐ เล่าถึงประเพณีก่อเจดีย์ทรายเมื่อครั้งยังเด็ก ๆ หลังจากที่วิถีชีวิตของชาวนาและชาวไทยเริ่มเปลี่ยนไป ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกก็ได้ค่อย ๆ เลือนหายไป สำหรับป้าประเสริฐนั้น ก็ยังคงทำพิธีบูชาแม่โพสพที่ผืนนาทำกิน สืบต่อจากแม่เรื่อยมา เมื่อถึงช่วงแรกหว่าน แรกเกี่ยว หรือตอนที่ข้าวเหลืองสุก ก็จะทำพิธีบอกแม่โพสพที่หัวคันนาอยู่เสมอ
“ตอนที่ข้าวเหลืองจะสุกเราก็จะบอกแม่โพสพไม่ต้องตกอกตกใจ เดี๋ยวข้าวสุกแล้ว ลูกจะมาเก็บเกี่ยวแม่โพสพไปขาย ขอให้น้ำหนักดี ก็บอกท่านให้รู้ตัวก่อน ส่วนตัวป้าเชื่อว่า ถ้าเราได้ทำพิธีต่าง ๆ ก็จะทำให้ข้าวดีขึ้น ความเชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่แม่ปลูกฝังมาให้เรา แม่จะนำรวงข้าวมาขึ้นหิ้งบูชา แล้วก็มีรูปกระดาษรูปพระแม่โพสพถือรวงข้าวตั้งไว้ด้วย สำหรับคนที่ไม่เชื่อเขาก็จะคิดว่าเราอุปาทานไปเอง”
นับหนึ่งถึงสาม การฟื้นกลับมาของประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก
กว่า 60 ปีที่ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกที่สาบสูญไปจากชาวคลองนกกระทุง รวมถึงวิถีชีวิตชาวนาภาคกลางในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย ปี 2559 ‘กลุ่มศาลานา ออแกนิก วิลเลจ’ กลุ่มพัฒนาส่งเสริมองค์ความรู้ในเชิงบูรณาการและพัฒนาเกษตรกรแนวคิดสมัยใหม่ เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเกษตรวิถีธรรมชาติที่ยั่งยืน ได้เข้ามาเป็นหัวเรี่ยวแรงหลักในการริเริ่มจัดงานก่อเจดีย์ข้าวเปลือก โดยมีเป้าหมายอยากจะให้ชาวบ้านได้สานต่อ พร้อมเป็นผู้จัดงานเองในปีต่อ ๆ ไป แล้วยังคอยเป็นตัวเชื่อมให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ตำบลคลองนกกระทุง กับอาจารย์และกลุ่มเกษตรกรศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติของจังหวัดพิจิตร (ที่เพิ่งรื้อฟื้นการก่อเจดีย์ข้าวเปลือกมาก่อนหน้านี้ไม่นาน) ให้ทั้งสองกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดรื้อฟื้นประเพณี เรียนรู้รายละเอียดต่าง ๆ ในพิธี
นอกจากการก่อเจเดีย์ข้าวเปลือก ทำบุญเวียนเทียนข้าวเปลือก ในวันนี้ยังมีพิธีทำขวัญข้าวไปพร้อมกันด้วย เครื่องบูชาต่าง ๆ ตั้งเตรียมพร้อมอยู่ในบริเวณทำพิธี อาทิ บายศรีปากชาม ไข่ ขนมต้มแดงต้มขาว กล้วย สับปะรด ส้ม ขนุน ฟักเขียว อ้อย มะพร้าวอ่อน ของที่เป็นชื่อมงคล และมีฉัตรซึ่งทำจากรวงข้าว ซึ่งตั้งตระหง่านอย่างสวยงามด้วย
“ข้าวเปลือกพันธุ์ดีที่ชาวนาช่วยกันเอามารวม ๆ กันเพื่อถวายวัดในครั้งนี้ เป็นข้าวอินทรีย์ นะ เพราะเราทำเรื่องเกษตรอินทรีย์กัน แม้กระทั่งฉัตรซึ่งทำจากรวงข้าว ก็เป็นรวงข้าวจากนาอินทรีย์ด้วย ค่อย ๆ นั่งร้อยทีละช่อ มีทั้งข้าวปทุมเทพ และพันธุ์อื่น ๆ แรก ๆ เราเคยใช้รวงข้าวจากนาเคมีมาทำเป็นช่อ แต่เมล็ดข้าวจะหลุดจากรวงง่ายกว่า” คุณป้านกน้อยเล่าเสริมในฐานะคนที่นั่งร้อยช่อข้าวด้วยตัวเอง “หลังจากที่ถวายข้าวเปลือกให้กับวัด และทำขวัญข้าวเสร็จแล้ว ชาวนาก็จะนำข้าวเปลือกที่ผ่านการทำพิธีจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเก็บไปเป็นมิ่งขวัญอันดี ไว้เป็นปฐมฤกษ์ของที่จะปลูกใหม่ เมื่อพิธีทั้งหมดเสร็จสิ้น ก็จะนำข้าวเปลือกไปสีแล้วนำข้าวสารมาถวายวัดอีกที”
เรื่องที่น่าสนใจ
ทั้งที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ ๆ แต่ยังเหมือนมีช่องว่างระหว่างกัน ไม่รู้จะคุยอะไรด้วยดี เรามีกิจกรรมกระชับมิตรระหว่าง ปู่ย่าตายาย-พ่อแม่-ลูกหลาน มาแนะนำให้!
จากเคียวเกี่ยวข้าว สู่ร้านศาลานา
เรื่องราวจีนปนไทยที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่เรากิน
ครั้งแรก! ของการเปิดเผยโฉมหน้าของชาวนาตัวจริง !
ส่ง-ข้าว-สุข ทุกปีใหม่ ทำไมผู้คนทั่วโลกถึงนิยมกินข้าว ในเช้าวันใหม่ของทุกปี?