โรงสีข้าวลานตากฟ้า จ.นครปฐม
2 ตุลาคม 2563
เอาหูไปนา เอาตาไปดูโรงสีข้าว (ชุมชน)
เมื่อลมหนาวมาถึง นาข้าวหลายแปลงเรียงคิวเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ถ้าได้หยิบหมวกสานสักใบ แล้วออกไปสัมผัสทุ่งนาสีเหลืองทองก็คงดีไม่น้อย ไม่รอช้า เราค้นหาแหล่งทุ่งนาที่น่าสนใจว่ามีที่ไหนใกล้กรุงเทพฯ และน่าแวะไปเยี่ยมเยียนได้บ้าง จนได้พบกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า (หรือชื่อเดิม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า) พื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกในประเทศไทย และที่น่าสนใจคือพี่ๆ ชาวนากลุ่มนี้ได้ชักชวนและร่วมกันทำนาเกษตรอินทรีย์กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และยังเป็นผู้บุกเบิกในการปลูกข้าวพันธุ์หอมนครชัยศรี ข้าวพื้นเมืองโบราณของจังหวัดนครปฐมที่สูญหายไปกว่า 40 ปีเลยล่ะ
อีกความน่าชื่นใจในความแข็งแรงของชุมชนนี้ คือเขามีโรงสีเล็ก ๆ ของชุมชน ที่เปิดเครื่องสีข้าวเปลือกปลอดสารเคมีให้เป็นข้าวสารกันเป็นประจำทุกอาทิตย์ด้วย รวมกลุ่มดูแลกันเองตั้งแต่ กระบวนการปลูกจนถึงกระบวนการขายขนาดนี้ ไม่เอาตัวและเอาใจไปด้วย...ไม่ได้แล้ว
ปลายทางของทริปนี้ อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ไปเพียง 12 กิโลเมตร ขับรถผ่านทุ่งนากว้าง ๆ และฟ้าสีสวยไปไม่เท่าไหร่ เราก็ได้พบกับพี่นัน-นันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า และหลังจากที่พี่นันทาบอกกับพวกเราว่า “เดี๋ยวพี่จะพาไปดูโรงสีของชุมชน” แต่ยังไม่ทันที่เราจะได้เคลื่อนตัว คุณพ่อของพี่นันทาก็คว้าจักรยานปั่นนำลิ่วไปยังโรงสีข้าวก่อนใครเพื่อนแล้ว!
เลิกข้าวเคมี รื้อฟื้นข้าวดีถิ่นนครชัยศรีให้กลับมา
หลังจากผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 พี่นันทาก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเกิดภัยพิบัติขึ้นมาอีกจะทำอย่างไร ในเมื่อเราปลูกข้าวเองแต่ก็ยังต้องไปซื้อข้าวกินอยู่ ความยั่งยืนในการใช้ชีวิตไม่มีอยู่จริง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มที่ทำให้พี่นันทาหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากปลูกข้าวหอมนิลและข้าวหอมปทุมที่เหมาะกับพื้นที่ลุ่มภาคกลาง
“เรามาลองคุย ๆ กันว่าในคำขวัญจังหวัดนครปฐม ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย มีคำว่า ‘ข้าวสารขาว’ อยู่ ก็เลยไปค้นข้อมูลข้าวของทุ่งนครชัยศรีมีอะไรบ้าง ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล และอีกหลาย ๆ ท่านที่ทำข้อมูลเรื่องข้าว ท่านก็บอกว่ามณฑลนี้เคยมีข้าวพันธุ์หอมนครชัยศรี ซึ่งเราก็ได้ทราบมาอีกว่าพ่อขวัญชัย รักษาพันธุ์ ซึ่งเป็นปราชญ์เกษตรกรจังหวัดฉะเชิงเทรา เขาได้นำพันธุ์ข้าวจากนครชัยศรีไปปลูกเมื่อ 40 กว่าปีก่อน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่าข้าวขาวขวัญชัย พอปี 2556 เราก็เลยไปเอาพันธุ์กลับมาลองปลูก ทำเป็นนาโยน จำได้ว่าน่าจะสัก 50 กิโลกรัม เอาไปปลูกในแปลงขนาด 5 ไร่ พอเริ่มโต ปรากฎว่าต้นข้าวที่พ่อขวัญชัยปลูกนั้นต้นเตี้ย และข้าวมีเนื้อแข็ง แต่ของเราพอเอามาปลูก ต้นข้าวกลับสูงถึง 180-190 ซม. และเมล็ดข้าวมีเนื้อนิ่ม ทั้งที่เป็นพันธุ์เดียวกัน เหมือนเขาได้กลับมาเจอระบบนิเวศดั้งเดิมของเขา” พี่นันทาเล่าย้อนไปเมื่อครั้งข้าวหอมนครชัยศรีได้คืนถิ่น หลังจากที่ห่างหายไปจากมณฑลนครชัยศรีนานกว่า 40 ปี
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะต้องหลุดจากวงจรของนายทุน ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มเพิ่มเป็น 10 ครอบครัวปลูกข้าวพันธุ์ต่าง ๆ สลับสับเปลี่ยนกันไปในพื้นที่รวมกว่า 70 ไร่ และร่วมแบ่งปันความรับผิดชอบและมีสิทธิ์มีเสียงในทิศทางของกลุ่มอย่างเท่าเทียม พี่นันทาบอกว่าสิ่งสำคัญของกลุ่มคือการเติบโตอย่างช้า ๆ เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มได้ก้าวเดินไปพร้อม ๆ กัน
โรงสีนี้สี ‘เขียว’
ห่างจากบ้านพี่นันทาไปเพียง 400 เมตร ก็ถึงโรงสีข้าวสีเขียว (ข้าวอินทรีย์) ที่เป็นเหมือนหัวใจของกลุ่ม พี่นันทาเล่าว่าโรงสีแห่งนี้จะเปิดเครื่องอาทิตย์ละครั้ง สีกันตลอดทั้งวัน เช้าสีข้าวกล้อง ตกบ่ายสีข้าวขาวเพื่อส่ง ทันทีที่พี่นันทากับคุณพ่อมาถึงก็ไม่รอช้า ช่วยกันเปิดโรงสีให้เราได้สบตากับเครื่องสีข้าวไทยประดิษฐ์สีเขียวเข้มที่ตั้งตระหง่านอย่างเข้มแข็ง แม้จะเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก แต่เพียงแค่ปรับการตั้งค่าขนาดของลูกกะเทาะ ก็สามารถสีได้ทั้งข้าวกล้องและข้าวขาว และเมื่อถึงช่วงที่มียอดสั่งซื้อจำนวนมาก เจ้าเครื่องนี้สามารถสีได้ถึงวันละ 2 ตันเลยทีเดียว (ซึ่งก็หมายความว่าเป็นปริมาณข้าวเปลือกถึง 4 ตัน) และในอนาคตพี่นันทายังมีโครงการที่จะเปลี่ยนระบบเครื่องสีข้าว จากน้ำมันเป็นโซลาร์เซลล์แล้วด้วย ซึ่งก็จะทำให้ประหยัดได้มากยิ่งขึ้นด้วย
ถัดจากเครื่องสีข้าวเป็นกองกระสอบข้าวเปลือกพันธุ์ต่าง ๆ เรียงตั้งกันเป็นกองสูง พอถึงกำหนดที่จะต้องจำหน่ายจึงจะนำข้าวเปลือกที่เก็บไว้ออกมาสี เพื่อให้ได้ข้าวสารคุณภาพดีส่งไปให้กับลูกค้า เนื่องจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้ามีลูกค้าประจำที่ผูกซื้อข้าวรายปี และราย 6 เดือน หรือที่เรียกว่าระบบ CSA (Community Supported Agriculture) เป็นรูปแบบของการพบกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคสายอินทรีย์ ที่ทำสัญญาใจสั่งผลผลิตล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าผลผลิตจะมีตลาดรองรับ ส่วนผู้บริโภคก็มั่นใจในสินค้าว่ามีคุณภาพเพราะส่งตรงมาจากเพื่อนที่ผูกและปลูกด้วยกัน ซึ่งนอกจากส่วนที่ปันไว้สำหรับ CSA ข้าวจากกลุ่มนี้ยังแบ่งสันปันส่วนไปอยู่ในถุงข้าวแบรนด์ศาลานาร่วมกับภาคีชาวนาอินทรีย์กลุ่มอื่น ๆ เลยรวมไปถึงการวางขายที่หน้าร้านข้าวหอมนครไชยศรี ตามตลาดนัดสีเขียว หรือนำไปแปรรูปเป็นแป้งข้าวอินทรีย์ ที่ทำขนมได้เอร็ดอร่อย ทั้งขนมไทยพื้นบ้านและเบเกอรี่ฝรั่งสำหรับคนแพ้กลูเต็นในแป้งสาลี
ขาว สวย หอม นุ่ม หนึบ
กระสอบข้าวเปลือกพันธุ์หอมนครชัยศรี ที่เก็บไว้จากปีก่อน ถูกเข็นมาที่เครื่องสีข้าว และนำใส่เครื่อง ด้วยตัวเครื่องสีข้าวนี้เป็นระบบแมนนวลที่ไม่อัตโนมัติ ทำให้ระหว่างที่เครื่องสีข้าวทำงานอยู่ คุณพ่อของพี่นันทาต้องคอยเดินตรวจเช็คตามจุดต่าง ๆ อยู่ตลอด และยังต้องคอยซ่อมแซมในกรณีที่มีการติดขัด ไม่นานนัก เมล็ดข้าวเปลือกถูกกะเทาะเปลือกออกมาอวดโฉมเมล็ดข้าวสีขาวทางช่องตะแกรงฝั่งขวา แล้วตกลงในกระบุงเครื่องจักสานที่พี่นันทาเตรียมรอไว้ เป็นครั้งแรกที่พวกเราได้สัมผัสข้าวที่เพิ่งออกมาจากเครื่องสีข้าว มันอุ่น ๆ และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ นวล ๆ เหมือนกลิ่นใบเตยอ่อน พอสอบถามพี่นันทาว่าลักษณะของเม็ดข้าวพันธุ์หอมปทุม กับพันธุ์หอมนครชัยศรีนั้นต่างกันอย่างไร ก็ได้จุดเอาไว้สังเกตว่า พันธุ์หอมปทุมจะเป็นสีขุ่น ๆ ส่วนข้าวพันธุ์หอมนครชัยศรีเม็ดจะใสกว่า
จากที่ได้เห็นข้าวเปลือกจนเห็นเป็นข้าวสารแล้ว ก็เลยลองสอบถามพี่นันทา ในฐานะคนที่ปลูกข้าวอินทรีย์มาหลายปี ว่าอะไรคือสิ่งที่เธออยากบอกคนกินมากที่สุด
“อยากให้ผู้บริโภคทำความเข้าใจเรื่องสารเคมีมากกว่านี้ กินข้าวแบบตระหนัก ไม่ใช่ตระหนก ใน 1 วันเรากินข้าวมากที่สุด แล้วรู้ไหมว่า ข้าวใช้เวลาปลูก 5 เดือน กลายมาเป็นข้าวสวยร้อน ๆ ที่เราทานกัน แต่สารพิษ กว่าจะย่อยสลายใช้เวลา 1 ปีเลยนะ แล้วทุกวันนี้ในอาหารต่าง ๆ ทุกอย่างมีความเสี่ยงหมด ทั้งสารเคมี สารกันบูด สารเร่งเจริญเติบโต สารฟอกขาว แล้วยังมีสารอื่น ๆ อีกไม่รู้เท่าไหร่ อย่างน้อย ถ้าอะไรที่เราเลือกได้ว่าทานแล้วปลอดภัยได้ก็ไม่ควรที่จะละเลย ถามว่าทำไมพี่ปลูกข้าวอินทรีย์ ก็เพราะพี่เห็นแก่ตัวเองนะ เห็นแก่สุขภาพตัวเอง อยากกินข้าวที่ไม่มีสารพิษ”
ประโยชน์ยันแกลบ
ตื่นเต้นกับข้าวเม็ดสวยจากเครื่องสี พี่นันทาก็พาเราเดินไปที่ทุ่งนาอินทรีย์ข้างโรงสีที่เห็นรวงข้าวสีทองรอเกี่ยว และแปลงทดลองที่สมาชิกทดลองผสมข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้แข็งแรงและมีความพิเศษมากขึ้น พี่นันทาเล่าว่า คนผสมพันธุ์ข้าวต้องเลือกลักษณะเด่นของสายพันธุ์ที่ชอบ นำมาปลูกใกล้ ๆ กัน แล้วรอวันที่ดอกเกสรข้าวจะบานแค่ไม่กี่นาที เพื่อผสมให้ดอกติดเกิดเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ แปลงนาที่เต็มไปด้วยต้นข้าวเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ เหล่านี้จึงเปรียบเสมือนห้องทดลองที่น่าสนุกไม่แพ้แล็บทางวิทยาศาสตร์ และพอฟังถึงความตั้งใจของพี่ ๆ เกษตรกร ก็ยิ่งรู้สึกว่าข้าวที่เรากินกันทุกวันจนเคยชิน มีเรื่องราวที่น่าค้นหาไม่แพ้กาแฟสเปเชียลตี้หรือฮอพในคราฟต์เบียร์เลยล่ะ
ระหว่างเดินกลับมาที่โรงสี เราเห็นเพื่อนบ้านของพี่นันทาขับรถเข้ามาโกยแกลบที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาจากเครื่องสี พี่นันทาบอกเราว่า แกลบเหล่านี้ไม่เคยถูกทิ้งเป็นขยะไร้ค่า เพราะสำหรับเกษตรกรวิถีอินทรีย์ที่อยู่ละแวกนี้ สามารถมานำแกลบไปรองเล้าไก่ ทำปุ๋ย หรือจะปรับสภาพดินเพื่อเพิ่มความโปร่งของดินได้อีกด้วย
ข้าวที่เราได้ชิม
เราช่วยกันแบกกระสอบข้าวถุงย่อมกลับไปที่บ้านพี่นันทาด้วยตั้งใจว่าจะเอ่ยปากขอซื้อข้าวที่เพิ่งสีเสร็จใหม่ ๆ นี้ แต่พี่นันทาก็ใจดียกให้ไปชิมก่อนแล้วค่อยมาผูกปิ่นโตกัน ซึ่งจากการได้ลองหุงกินตามประสาคนเห่อ (ทันที) เราก็ได้ข้าวหอมฟุ้งนุ่มหนึบและเป็นมันวาวจากยางข้าวใหม่ เคี้ยวอร่อยและสบายใจเพราะเรารู้แล้วว่าตั้งแต่กระบวนการปลูกยันบรรจุถุง คือความปลอดภัยและความไว้วางใจที่เรามีให้กัน
สำหรับใครที่อยากลิ้มลองข้าวหอมนครชัยศรี สามารถแวะมาซื้อที่กลุ่มฯ แต่แนะนำให้สอบถามมาก่อนที่แฟนเพจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า ตลาดบ้านรังนก
หรือตามไปซื้อที่ตลาดนัดสีเขียวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และตลาดสีเขียวอื่น ๆ ที่ทางกลุ่มไปออกร้านได้เช่นกัน
อนาคตอันใกล้ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า จะเปิดอีกพื้นที่สีเขียว ให้คนที่ชอบเที่ยวเชิงเกษตรฯ มาเก็บผักปลอดสารพิษสด ๆ จากต้น หรือซื้อกล้วย มะพร้าวที่พวกเขาปลูกไว้ด้วยนะ
เรื่องที่น่าสนใจ
ชาวนาไทยได้อะไร? เมื่อปลูกข้าวให้ศาลานา
Rice O’ Clock เมนูข้าว ๆ เช้ายันเย็น ของคนกินข้าวสีเข้ม
มาตรฐาน Salana PGS ข้างถุงข้าว บอกอะไรเราบ้าง?
เบลนด์ข้าวอย่างไรให้อร่อย สุก และสุขทั่วกันทั้งคนปลูกคนกิน
จากเคียวเกี่ยวข้าว สู่ร้านศาลานา