ชูเกียรติ โกแมน l นัก Biotech และผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินที่เชื่อว่า ‘ความรู้’ คือกุญแจสู่ความสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์
28 มิถุนายน 2562
ชีวิต ความคิด และความรู้ของวิทยากรศาลานาที่มองผืนดินและการเพาะปลูกด้วยสายตานักวิทยาศาสตร์
ถ้าเคยลงมือทำการเกษตร คุณคงพอเข้าใจว่า ‘ดิน’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเพาะปลูก แต่รู้หรือไม่ว่า เราจะดูแลจัดการดินได้ด้วยวิธีใด และความรู้เรื่องดินนั้นมีประโยชน์ต่อการทำเกษตรขนาดไหน อย่างไรบ้าง
นี่คือสิ่งที่ชูเกียรติ โกแมน นัก Biotech ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินที่ศึกษาจนเข้าใจ แล้วหยิบยกมาพูดคุยกับผู้คนเสมอ ตั้งแต่เกษตรกรมือใหม่ในเมืองจนถึงชาวนาตัวจริงตามพื้นที่ต่าง ๆ
ชูเกียรติเชื่อมั่นว่า ‘ความรู้’ คือกุญแจสำคัญที่จะทำให้การทำการเกษตรประสบความสำเร็จ และ ‘ความรู้เรื่องดิน’ ก็ยังเป็นกุญแจดอกสำคัญ โดยเฉพาะกับการทำเกษตรอินทรีย์ที่มีผืนดินเป็นหัวใจหลัก
ขยายความอีกนิด ความรู้ในสายตาชูเกียรติก็คือข้อมูลที่มีเหตุผลรองรับตามแบบวิทยาศาสตร์ เพราะที่จริงแล้ว เกษตรกรรมนั้นเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง “บัณฑิตทางด้านการเกษตรรับวุฒิการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิตนะ” อดีตนักศึกษาสายเทคโนโลยีชีวภาพหรือ Biotechnology บอกเราปนหัวเราะ
และด้านล่างนี้คือเรื่องราว ความคิด และองค์ความรู้เรื่องดินของคนทำเกษตรสายวิทยาศาสตร์เข้มข้น ที่อาจทำให้คุณมองผืนดินเดิมด้วยสายตาใหม่
เมื่อนัก Biotech ปลูกผัก
ในวันนี้ ชูเกียรติหรือที่ใครหลายคนเรียกว่า ‘อาจารย์ชูเกียรติ’ คือผู้รู้จริงเรื่องดินที่คร่ำหวอดในวงการเกษตรมานับ 10 ปี
แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เขาไม่ได้ใฝ่ฝันจะทำสิ่งนี้มาแต่ต้น
ชูเกียรติในวัยเรียนคือ นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเกษตรศาสตร์บางพระ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล อธิบายอย่างง่าย สิ่งที่เขาเรียนคือวิธีนำจุลินทรีย์มาช่วยเพิ่มมูลค่าให้สิ่งต่างๆ เช่น ถ้าเป็นด้านเกษตรกรรม ก็คือการใช้จุลินทรีย์เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตและของเหลือทางการเกษตรอย่างการทำปุ๋ยหมักจากของเหลือทางการเกษตร การนำผลผลิตทางการเกษตรมาทำเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่า หลังเรียนจบ เขาก็ใช้ความรู้ด้านการใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียหรือ Wastewater Treatment ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กเทคโนโลยีชีวภาพต้องเรียนกัน เข้าไปทำงานเป็นวิศวกรวางระบบบำบัดน้ำเสีย
ถ้าชีวิตดำเนินต่อไปอย่างเดิม เราคงได้รู้จักชูเกียรติในฐานะวิศวกรคนหนึ่ง แต่จุดเปลี่ยนก็มาถึง เมื่อเขาเริ่มต้นสร้างครอบครัว
“เราตั้งใจว่าถ้ามีลูก เราอยากจะเลี้ยงเอง” ชูเกียรติอธิบาย และเพราะอย่างนั้น เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แล้วเวลาว่างที่เหลือจากการรับงานแบบฟรีแลนซ์ก็เริ่มต้นปลูกผักเพราะสนใจปลูกต้นไม้ และเพื่อเป็นอาหารปลอดภัยให้ลูกกิน
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เส้นทางของนักเทคโนโลยีชีวภาพด้านการบำบัดน้ำเสียเปลี่ยนมาเกี่ยวข้องกับเรื่องเกษตรอย่างจริงจัง เขาเริ่มขายผัก ขายต้นไม้ รวมถึงขายน้ำหมักชีวภาพ จนมีคนรู้จักและชวนไปร่วมทำโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ที่ตอนนั้นเพิ่งตั้งไข่ จากนั้น ก็นับได้ว่าชูเกียรติก้าวเข้าสู่วงการเกษตรเต็มตัว โดยมากกว่าการปลูกพืชผักขาย ไปลุยทำฟาร์มที่ต่างจังหวัด เขายังทำหน้าที่เป็นวิทยากรและที่ปรึกษา
วงการเกษตรมีผู้รู้มากมาย แต่เป็นที่รู้กันว่า ชูเกียรติคือผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ‘ดิน’
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นตำแหน่งที่นักเทคโนโลยีชีวภาพคนนี้ได้มาด้วยการค่อย ๆ สั่งสมและตกตะกอนความรู้จากสิ่งที่เรียนและการลงมือทำ
ดินคือบ้านของรากพืช
สมัยร่ำเรียนด้านเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งเป็นหนึ่งสาขาในคณะเกษตรศาสตร์ ชูเกียรติได้เริ่มรู้จักคุ้นเคยกับดินจากวิชาพื้นฐานทางการเกษตร ซึ่งเป็นวิชาบังคับของคณะฯ และจากการเรียนเรื่องการใช้จุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนแปลงชีววัตถุ และจุลชีววิทยาทางการเกษตร ซึ่งเป็นความรู้ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพของเขาเอง
เมื่อเข้ามาคลุกคลีกับวงการเกษตรเต็มตัว นักเทคโนโลยีชีวภาพคนนี้จึงหยิบความรู้เรื่องนี้จากมหาวิทยาลัยมาใช้ พร้อมศึกษาเพิ่มเติมแบบลงลึกด้วยการค้นคว้าข้อมูลวิชาการ เรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลัก ๆ คือการทำจริงในเมือง และต่อยอดมันให้ไกลออกไป
“ตอนเรียนเราก็เข้าใจในสิ่งที่เรียน แต่ก็ไม่ได้เข้าใจถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความเข้าใจต่าง ๆ เหล่านี้ได้มาภายหลังจากประสบการณ์การทำงานในแปลงปลูกผัก” ชูเกียรติบอกเรา
ทุกอย่างหลอมรวมเป็นองค์ความรู้เรื่องดินที่หนักแน่นด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งชูเกียรติหยิบบางส่วนสำคัญมาเล่าให้เราฟังอย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย เริ่มจากประเด็นพื้นฐานที่สุด นั่นคือความสำคัญของดิน
“ดินมีความสำคัญกับพืชอยู่สองข้อใหญ่คือ เป็นที่อยู่ของรากพืช และเป็นที่อยู่ของอาหารที่พืชต้องการ และนั่นคือความสำคัญของดินต่อพืช” ชูเกียรติสรุปสั้นง่าย ก่อนอธิบายต่อว่า เมื่อเข้าใจหลักการนี้ เราก็จะปรับเปลี่ยนวิธีเพาะปลูกพืชได้ เช่น การเพาะปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์คือการเพาะปลูกพืชผักในน้ำ ที่เพาะปลูกได้เพราะภาชนะหรือรางที่ใส่น้ำจะกลายเป็นที่อยู่ของราก และปุ๋ยเคมีที่นำมาละลายในน้ำที่ใช้หมุนเวียนก็จะกลายเป็นแหล่งอาหารให้กับพืช
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้ลึกกว่านั้น ดินยังคงเป็นบ้านที่ดีที่สุดของพืช เป็นบ้านจากฝีมือธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบไร้คู่แข่ง
“ในดินอาจมีธาตุอาหารอื่นที่พืชต้องการอยู่อีกมายมากหลายชนิด เพราะพืชไม่ได้ต้องการแค่ธาตุอาหารหลักอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และอาหารรองอีกประมาณ 22 ชนิด แต่พืชอาจต้องใช้ธาตุอาหารอื่น ๆ ซึ่งอาจไม่ส่งผลชัดเจนเหมือนธาตุ 20 กว่าชนิดนี้ด้วย อีกเหตุผลคือภายในดินจะมีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย เช่น มีผู้ย่อยสลาย อาจจะเป็นจุลินทรีย์หรือสัตว์ที่อยู่ในดินเช่น ไส้เดือน กิ้งกือ หรือหนอนในดิน ทำให้ภายในดินเกิดกระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางชีววัตถุอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพืชจะได้ผลประโยชน์จากกระบวนการเปลี่ยนแปลงพวกนี้” ชูเกียรติแจกแจง
และเพราะบ้านหลังนี้สำคัญ เราจึงต้องดูแลรักษาบ้านให้ดีที่สุด และวิธีการดีที่สุดคือ การทำเกษตรอินทรีย์
วิถีอินทรีย์คือคำตอบ
เพราะอะไรการดูแลบ้านวิธีนี้ถึงดีที่สุด คำตอบของชูเกียรติคือ การทำเกษตรอินทรีย์เป็นการทำการเกษตรแบบนอบน้อมต่อธรรมชาติ อาศัยความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศเป็นผู้ช่วยในการทำการเกษตร
“นับจากช่วงปฏิวัติเขียวที่เริ่มมีใช้ปุ๋ยเคมีทำการเกษตรมาจนถึงปัจจุบัน ดินเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ เพราะเราอาจใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป และเราไม่เคยสนใจการชดเชยค่าความเสื่อมของดิน ซึ่งก็คือแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินที่ได้จากการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ เราปลูก หว่านปุ๋ยเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับพืชที่ปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่าย ทำแบบนี้วนรอบซ้ำไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการชดเชย การทำเกษตรแผนใหม่ยังมุ่งเน้นแต่ผลผลิตสูงสุด โดยไม่สนใจสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศ ต้นหญ้าต้องกำจัดทิ้งด้วยการตัดแล้วเอาไปทิ้งที่อื่น โดยไม่สนใจว่า ต้นหญ้าได้สะสมเอาแร่ธาตุหรืออาหารในบริเวณนั้นไว้ที่ตัว การขนย้ายไปทิ้งก็เท่ากับเอาแร่ธาตุหรืออาหารพืชในดินบริเวณนั้นไปทิ้งไว้ที่อื่น ดินในบริเวณเพาะปลูกก็ไม่สมบูรณ์เนื่องจากวัฏจักรการหมุนเวียนแร่ธาตุขาดหาย
“นอกจากนั้น อินทรียวัตถุไม่ได้เป็นแค่แหล่งที่ปลดปล่อยแร่ธาตุหรือธาตุอาหารให้กับพืชเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนร่างตาข่ายในดิน เมื่อปุ๋ยเคมีแตกตัวเป็นแร่ธาตุชนิดต่างๆ ในทางเคมีมันจะมีประจุ จะต้องถูกเหนี่ยวนำเหมือนแม่เหล็กที่ขั้วต่างกันจะดูดกัน ตัวร่างตาข่ายอินทรียวัตถุจะทำให้แร่ธาตุต่าง ๆ มาติด พืชก็จะได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เมื่อดินเสื่อม มีอินทรียวัตถุในดินต่ำ ร่างตาข่ายที่จะคอยดักแร่ธาตุต่าง ๆ ก็น้อย แร่ธาตุก็หลุดไหลไปกับน้ำ กับฝนหมด พืชไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะฉะนั้น คนที่ทำเกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยหมัก ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี พืชผักก็เติบโตได้ดี ทั้งที่ถ้าเอาแร่ธาตุในปุ๋ยไปเปรียบเทียบกัน ยกตัวอย่างเช่น ไนโตรเจนในปุ๋ยอินทรีย์อาจมีแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปุ๋ยเคมีสูตร 16:16:16 อาจมีไนโตรเจนสูงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ แต่เพราะในดินที่ทำเกษตรอินทรีย์ มีอินทรียวัตถุที่ทำหน้าที่เป็นร่างตาข่าย แม้จะมีธาตุอาหารในปริมาณที่น้อยกว่า แต่สามารถใช้ประโยชน์เต็มที่ พืชผักที่ปลูกได้จึงเติบโตได้ไม่แตกต่างกันกับการใช้ปุ๋ยเคมี
“แล้วเมื่อเติมอินทรียวัตถุไปเรื่อย ๆ ดินจะมีจุดอิ่มตัว ปริมาณการใช้ปุ๋ยหมักเพื่อชดเชยอินทรียวัตถุให้ดินอาจจะใช้น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น เพราะมีอาหารพืชที่มากพอ รวมถึงดินมีคุณสมบัติดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินจะดีขึ้น ยิ่งถ้าเป็นการทำเกษตรในเมืองจะยิ่งเห็นชัด เพราะจุลินทรีย์ในดินจะสร้างสารโพลิเมอร์ตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่สารนี้จะอุ้มน้ำได้ดี ดินที่มีการใช้อินทรีย์วัตถุในการบำรุงดินเรื่อย ๆ จะดูฟู ฉ่ำน้ำอยู่ตลอดเวลา” นักเทคโนโลยีชีวภาพกล่าว
แต่ทั้งนี้ การดูแลบ้านของพืชด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ก็ยังต้องทำด้วยวิธีที่ถูกต้อง “การทำเกษตรอินทรีย์จะมีปุ๋ยอยู่ 2 ประเภทคือ ปุ๋ยหมักซึ่งเป็นของแข็ง ก็คือดินดี ๆ นั่นแหละ และน้ำหมักชีวภาพ สิ่งที่ควรทำคือใส่ปุ๋ยหมัก ทำให้ดินมีอาหารพืช เพราะเมื่อเราปลูกผัก เกษตรกรตัดผักออกไปขาย นั่นหมายความว่าอาหารในดินที่สะสมในต้นผักจะไม่กลับมาที่แปลงปลูกเดิม ถ้าไม่เติมปุ๋ยหมักเข้าไป แร่ธาตุหรือสารอาหารพืชในดินมันก็จะพร่องไป เพราะฉะนั้นก็เอาปุ๋ยหมักใส่กลับไปที่ดินเดิม ทำให้เกิดการหมุนเวียนตามหลักที่คุยกันเมื่อกี้” ชูเกียรติบอก แล้วอธิบายเพิ่มถึงวิธีสร้างดินที่ดี หรือการเพิ่มอินทรียวัตถุลงในบ้านของพืช
“ดินเกิดจากกระบวนการการย่อยสลายของอินทรียวัตถุ” ชูเกียรติเริ่มต้นเล่า “และถ้าพูดถึงดินดี เราจะนึกถึงดินในป่า เพราะฉะนั้น ถ้าย้อนกลับไปมองว่าดินในป่าเกิดขึ้นได้ยังไง ก็จะพบว่ามีวัตถุดิบอยู่แค่กิ่งไม้ ใบไม้แห้ง ซากสัตว์และมูลสัตว์ วัตถุดิบทั้ง 3 ชนิดนี้ถูกย่อยสลายกลายเป็นอาหารพืชด้วยจุลินทรีย์ในป่า หรือสัตว์ผู้ย่อยสลายชนิดต่าง ๆ เช่น กิ้งกือ ไส้เดือน ซึ่งก็คือสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในระบบนิเวศนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากได้ดินดี ก็มองรอบตัวเราว่ามีอินทรียวัตถุอะไรบ้าง แล้วเอามาเข้าสู่กระบวนการหมัก หรือกระบวนการทำปุ๋ยหมัก”
ตรงนี้เอง ที่ความรู้เรื่องเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามามีบทบาทเด่นชัด ชูเกียรติอธิบายว่าสิ่งที่เป็นความถนัดของเขาจะทำให้การย่อยสลายของอินทรียวัตถุสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งหมายถึงกระบวนการอาจเร็วขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้
“ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารอินทรีย์ อันดับแรกมันต้องการอากาศ ซึ่งความชื้นในกองวัสดุจะมีผลกับอากาศการหมุนเวียนอากาศในกองปุ๋ยหมักโดยตรง คุณเคยเห็นดินแฉะ ๆ ใช่ไหม ความแฉะหมายถึงน้ำอยู่ในช่องว่างของดินทั้งหมด ถ้าเป็นการทำปุ๋ยหมัก การแฉะจะหมายความว่าน้ำอยู่ในช่องว่างระหว่างชิ้นวัสดุทั้งหมด ซึ่งมันจะไม่เหลือช่องว่างให้อากาศภายนอกเข้ามาได้ เมื่ออากาศไม่พอ การหมักจะย่อยสลายเสร็จสิ้นช้า และส่วนใหญ่ให้ก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น ดังนั้นการทำปุ๋ยหมักจึงแฉะไม่ได้ สองคือระบบนี้ต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสมซึ่งอยู่ระหว่าง 45-55 องศาเซลเซียส เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการทำปุ๋ยหมักในประเทศไทยในระดับฟาร์มซึ่งมักต้องทำการปุ๋ยหมักจำนวนมาก เวลาที่ไปอบรม เราจะแนะนำให้เขาทำในโรงเรือนเพื่อควบคุมสภาวะต่างๆ ได้ แต่ชายคาโรงเรือนต้องลาดต่ำหน่อยเพื่อไม่ให้โดนฝนสาด เป็นการรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ไม่ร้อน ไม่แฉะ คุณสามารถคลุมกองปุ๋ยหมักด้วยตาข่ายหรือผ้าใบพลาสติกอีกทีนึงก็ได้ ซึ่งถ้าทำตามขั้นตอนแบบนี้ อย่างช้าก็ไม่เกิน 30 วัน ขณะที่ถ้าทำปุ๋ยหมักในเมือง เราจะแนะนำให้ทำในกล่องที่ออกแบบให้อากาศเข้าได้ ซึ่งช่วยให้ไม่เกิดแก๊สที่มีกลิ่นเหม็นด้วย และกล่องจะช่วยรักษาอุณหภูมิ รวมถึงป้องกันหนูและแมลง”
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การมี ‘ความรู้’ จะนำไปสู่การสร้างบ้านที่ดีที่สุดของพืช และเมื่อโจทย์เปลี่ยนไป ความรู้หนักแน่นยังเป็นพื้นฐานให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานตามโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไม่ยากเย็น
ไม่น่าแปลกใจที่นักเทคโนโลยีชีวภาพตรงหน้าเราคนนี้จะเชื่อมั่นในความรู้ และสนับสนุนให้คนทำเกษตรมีกุญแจดอกนี้อยู่กับตัวด้วย
ความรู้คือทางรอด
ตัวเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน โลกและธรรมชาติก็ไม่หยุดเปลี่ยนไป ในความเคลื่อนไหวเหล่านั้น ชูเกียรติยืนยันว่าการมีความรู้ความเข้าใจคือทางรอด
มากกว่าลงมือเพาะปลูกของตัวเอง ทุกวันนี้สิ่งที่นักเทคโนโลยีชีวภาพคนนี้ทำสม่ำเสมอคือการเผยแพร่สิ่งที่รู้สู่สังคม หนึ่งในนั้นคือ การเป็นวิทยากรในโครงการศาลานา โครงการที่ส่งเสริมเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์และองค์ความรู้เพื่อเป็น Smart Farmer แก่เกษตรกรรุ่นใหม่
“วิธีคิดเราอาจไม่เหมือนคนอื่น เลยอาจคลิกกับศาลานาที่ทีมงานส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งในความเห็นเรา เกษตรอินทรีย์คือระบบการทำเกษตรที่เป็นธรรม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงอาจได้ผลผลิตที่ดีกว่าในระยะยาวมากกว่าระบบอื่นๆ และถ้าเข้าใจหลักพื้นฐาน คุณก็จะออกแบบการทำฟาร์มอินทรีย์ได้ หลักพื้นฐานของการทำเกษตรอินทรีย์คือ การเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในระบบนิเวศล้วนมีหน้าที่และบทบาทของตัวเอง เราแค่คอยดูแลให้ระบบนิเวศของเราสมดุล เช่น ใครที่มีบทบาทเชิงลบต่อเรา สิ่งที่เราควรทำคือการลดบทบาทหน้าที่ในระบบนิเวศของเขาลง ไม่ควรกำจัด เพราะจะทำให้ระบบนิเวศไม่สมดุล สำหรับเรา เกษตรอินทรีย์เลยเป็นวิธีที่สบายที่สุด เพราะเราไม่ได้ทำสวนคนเดียว แต่ปล่อยให้เพื่อนคนอื่นในระบบนิเวศช่วยกันทำ
“ส่วนคำว่า smart farmer เรามองว่าคุณต้องรู้ทุกอย่างและจัดการเป็น เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง โดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเงื่อนไขในแต่ละช่วงเวลาของเราจะเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เช่น ในอนาคต หากเราอายุเยอะขึ้น ทำฟาร์มด้วยแรงงานตัวเองไม่ไหว เราก็อาจจะมีรถไถคันเล็กๆ สักคัน เพื่อช่วยลดเรื่องแรงงานในการทำงาน ต่อไปแรงงานในภาคการเกษตรจะมีปัญหา คนจะทำน้อยลง หรือมีค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น เราจำเป็นต้องมองอนาคตให้ออก คือต้องลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสม แล้วถ้าคุณลงทุนได้ถูกเวลา อย่างตอนนี้ซื้อรถไถ 1 คันน่าจะราคา 2 หมื่นบาท ถ้าซื้อตอนนี้ ซ่อมบำรุงแล้วใช้ไปเรื่อย ๆ ถึงตรงนั้นก็ไม่ต้องซื้อแพง” ชูเกียรติให้ความเห็น
ท้ายที่สุด ในสายตานักเทคโนโลยีชีวภาพผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินคนนี้ การทำเกษตรไม่ว่าจะปลูกผักในเมืองหรือเป็นชาวนาอินทรีย์ จึงยังมีแก่นหลักอยู่ที่ความรู้เป็นสำคัญ
“สิ่งที่เกษตรกรในอนาคตต้องมีคือความรู้ ความรู้จะทำให้คุณสามารถจัดการกับปัญหาหรือสิ่งต่าง ๆ และพัฒนาตัวเองได้” ชูเกียรติกล่าวทิ้งท้าย
และแน่นอน คุณคงรู้ชัดเจนแล้วว่ากุญแจดอกสำคัญคือดอกไหน
---------------------------
เรื่อง: ธารริน อดุลยานนท์
ภาพ: พิชาญ สุจริตสาธิต
เรื่องที่น่าสนใจ
ประเพณีเก่าที่หายไปจากคลองนกกระทุง 60 ปี
เรื่องดัก ‘เก๋า’ เกี่ยวกับข้าว ที่ยังหอมฉุยอยู่ในความทรงจำ
สูตรบอกรักครอบครัวผ่านจานข้าว สไตล์คุณพ่อบ้าน
ข้าวจานนี้ เพื่อลูกน้อย ข้าวอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ที่คุณแม่กิน ส่งต่ออะไรให้เจ้าตัวน้อยในท้องบ้าง?
นารี ป้อมงาม ชาวนาอินทรีย์ จ.นครปฐม